วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ITกับไปรษณีย์ไทย

ระบบสารสนเทศ( IT )กับธุรกิจไปรษณีย์ไทย( ปณท.)
                ปัจจุบันการนำระบบไอทีมาช่วยเสริมในการดำเนินธุรกิจถือว่ามีความสำคัญมากเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งนี้การนำระบบไอทีเข้ามาช่วยเพื่อรองรับกับการบริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงกับโลกปัจจุบัน และเพื่อรักษารายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย   ไปรษณีย์ไทยจึงเปิดแผนกลยุทธ์ปีทางการมุ่งเน้นพัฒนาระบบไอที –ระบบปฏิบัติการ –พัฒนาบุคลากรรองรับธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจหลักเสริมสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าโลจิสโพสต์ มุ่งเน้นธุรกิจบริการอร่อยทั่วไทยที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( สสว.)คัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดในประเทศเพื่อนำมาให้บริการจัดจำหน่ายรวมถึงคัดเลือกสินค้าของเอสเอ็มอี(SME)มาวางขายทางเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะบริการจัดส่งให้   
สำหรับความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ครั้งนี้ไปรษณีย์ไทยยังมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ในการจัดส่งสินค้าแบบอีเอ็มเอส ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 5% สำหรับผู้ที่ถือบัตรเอสเอ็มอี ฟลายอิ้ง คีย์การ์ดรวมทั้งให้เอสเอ็มอีซื้อแสตมป์อี -คอมเมิร์ซ เพื่อใช้ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนหนักไม่เกิน 1 และ 2 กิโลกรัม ในราคาลด 20%   โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีขยายตลาดเข้าสู่อาเซียนได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน  ผ่านการจัดส่งของไปรษณีย์และการสั่งซื้อทางเว็บไซต์ของไปรษณีย์ เบื้องต้นเน้นผู้ประกอบการ 5ด้าน ได้แก่ สิ่งพิมพ์และสกรีน แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และหัตถกรรม อาหารแปรรูป และการท่องเที่ยวและจะรุกจับมือแบงก์ -ประกันภัย ร่วมธุรกิจให้บริการผ่านเคาน์เตอร์บริการทั่วประเทศ เร่งตั้งโครงการขนส่งสินค้าภาคการเกษตรกระจายสินค้าทั่วภูมิภาค มั่นใจรายได้ปีหน้าเติบโต 10-15%
                นอกจากนี้บริษัท ไปรษณีย์ไทยได้เปิดเผยกับ “TRANSPORT” ถึงยุทธศาสตร์ทางไปรษณีย์ไทย ว่ามีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ใหม่แบบเชิงรุกเพื่อเข้ามาสนับสนุนธุรกิจหลักของไปรษณีย์จากการฝากธนาณัติและการส่งจดหมาย โดยการมุ่งเน้นพัฒนาระบบไอทีให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น  เพื่อรองรับแนวทางธุรกิจใหม่ด้านธุรกิจโลจิสโพสต์ หรือการขนส่งพัสดุที่มีขนาดใหญ่ ธุรกิจบริการอร่อยทั่วไทย และธุรกิจร่วมกับธนาคารพาณิชย์ผ่านเคาน์เตอร์บริการ รวมทั้งระบบปฏิบัติการและพัฒนาบุคลากร     ทั้งนี้เนื่องมาจากว่าที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยจะสามารถขนส่งพัสดุที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 30 กิโลกรัม ดังนั้นจึงมีไก้การพัฒนาขั้นตอนต่อไปที่จะทำให้ขนส่งพัสดุที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น รถจักยานยนต์ ตู้เย็น  เครื่องซักผ้า  เป็นต้น    ขณะเดียวกันในส่วนของระบบปฏิบัติการนั้นจะมีการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กที่สามารถส่งของตามเส้นทางในซอยที่มีขนาดเล็กแคบและการจราจรติดขัด  เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการส่งของด้วยรถจักรยานยนต์ ตลอดจนลดความเสียหายของสิ่งของที่ขนส่งไปยังผู้ใช้บริการด้วย  เหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบไอที และระบบปฏิบัติ การให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปีต่อมานี้เราจะมุ่งเน้นการใช้ระบบไอทีและระบบปฏิบัติการเพื่อรองรับธุรกิจใหม่ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาระบบไอที และระบบปฏิบัติการเป็นจุดอ่อนของเราทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจใหม่ได้จากที่ยังขาดตัวซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่จะมารองรับการให้บริการ หรือรองรับธุรกิจใหม่ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบ ซึ่งการพัฒนาระบบไอทีมีหลายอย่าง เช่นระบบจัดการสต๊อกสินค้า RFID    ระบบ ERP และ TRACK&TRACE ระบบติดตามและตรวจสอบสิ่งของฝากส่งทางไปรษณีย์   ซึ่งระบบนี้เป็นบริการสำหรับการติดตามและตรวจสอบสิ่งของที่มีการฝากส่งภายในประเทศไทยและระหว่างประเทศได้ จากที่ปัจจุบันใช้เป็นระบบ EMSอยู่ไปรษณีย์ไทยจะพัฒนาระบบไอทีทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน ขณะที่ระบบ ERPนั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาระบบแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดใช้เวลาโดยประมาณ 1 ปีครึ่ง
สำหรับการทำธุรกิจร่วมกับธนาคารพาณิชย์นั้นขณะนี้ไปรษณีย์อยู่ระหว่างการทดลองทำธุรกิจร่วมกับธนาคารกรุงไทยโดยทางไปรษณีย์มีความต้องการเปิดให้บริการทั่วประเทศ เพราะว่าปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 3,000 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจด้านนี้เพื่อให้บริการประชาชน  ส่วนแนวทางการให้บริการประกันภัยผ่านเคาน์เตอร์บริการนั้น อาจต้องดำเนินการเพื่อขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)โดยมีแนวทางการบริการให้กับบริษัทประกันภัยโดยทั่วไป ซึ่งเบื้องต้นจะมีการพิจารณาจากบริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงและความน่าเชื่อถือเพื่อป้องกันไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ปัจจุบันนี้การให้บริการผ่านทางไปรษณีย์โดยผ่านเคาน์เตอร์บริการมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดสวนจตุจักร ไปจนถึงแหล่งชุมชนต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายโดยเฉพาะผู้ที่ซื้อของแล้วไม่สามารถนำกลับเองได้ ไปรษณีย์ไทยจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะให้บริการด้วยความปลอดภัยและส่งของถึงบ้านได้เช่นกัน    ดังนั้น ในอนาคตนอกจากการให้บริการผ่านทางเคาน์เตอร์แล้วยังมีโครงการที่จะจัดตั้งโมบายไปรษณีย์ไทยเพื่อเคลื่อนที่ไปให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางอาจจะต้องมีการหาพันธมิตรร่วมทุนหรือจะลงทุนเอง  ขณะเดียวกันนั้นเมื่อมีจุดให้บริการแล้วการหาพันธมิตรร่วมทุนยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจต่อไปอีกด้วย
นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังมีโครงการเพื่อการขนส่งสินค้าภาคการเกษตร  เพื่อการกระจายสินค้าไปให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคภายในประเทศ โดยได้มีการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เพื่อจัดทำหน้าที่กระจายการขนส่งไปยังจุดจำหน่ายสินค้าต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทางภาครัฐบาลเห็นด้วยในการจัดตั้งโครงการในครั้งนี้  เหลือแต่เพียงทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อทำแผนงาน โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากสินค้าประเภทผลไม้ พืชผักสวนครัว ก่อนเป็นต้น     ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีศูนย์ไปรษณีย์ที่มีลักษณะเป็นเหมือนโกดังเก็บของที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 11 แห่ง ซึ่งสามารถเป็นจุดพักสินค้าได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นแนวทางที่จะร่วมมือกับธุรกิจต่างๆ ที่มีความต้องการกระจายสินค้าไปยังต่างจังหวัด  เพื่อลดต้นทุนการขนส่งเพื่อหันมาใช้บริการจากไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อจะขยายธุรกิจและถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและยังเป็นการเพิ่มรายได้ด้วย
     สำหรับการบริหารต้นทุนในขณะนี้ไปรษณีย์ไทยไม่มีนโยบายในการสรรหาซื้อที่ดินและการซื้อตึกเพิ่มเติม แต่จะต้องหันมาใช้ระบบการเช่าแทน ซึ่งปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีโกดังสินค้าให้เช่ามากมายจึงไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างโกดังใหม่เพิ่มอีก  ดังนั้นจุดนี้สามารถที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้มากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
    
     แต่ถึงเราจะดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของไปรษณีย์ยังมุ่งเน้นการให้บริการประชาชนในการส่งจดหมาย  ส่งพัสดุภัณฑ์  ธนาณัติ และสิ่งพิมพ์  ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมแผนการดำเนินการทำธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา  ไปรษณีย์ยังคงมีแนวทางเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับธุรกิจเดิม เพราะเนื่องมาจากรายได้หลักของไปรษณีย์ไทยมาจากการขนส่งเป็นสำคัญ  โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสโพสต์และธุรกิจเคาน์เตอร์บริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ร่วมกับแบงก์ ธุรกิจที่ร่วมกับประกันภัย รวมถึงการสั่งของทางไปรษณีย์ด้วย